วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เข้าวัดง่ายกว่าที่คิด

วัดมีอะไร ดีกว่าที่อื่น

    “ยามที่เราได้เข้าสู่วัดอย่างน้อยเราก็ได้หยุดการเบียดเบียนกัน หยุดความทุกข์ใจ หยุดกิเลส หยุดความเบื่อหน่าย หยุดเวลาที่ให้กับผู้อื่นมามากแล้วมามอบกำลังใจให้ตัวเองดูบ้าง”
เมื่อหลายวันก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆมากมายเสียจนทำแทบไม่ไหว  เท่าที่จำได้แต่ละที่ต้องใช้เวลาเดินค่อนข้างนานแดดก็ร้อน บางที่คนก็เยอะ
แต่น่าแปลก  ตอนเดินกลับไม่รู้สึกว่าเหนื่อย  เดินได้เรื่อยๆเพราะบรรยากาศอันสวยงามที่ธรรมชาติจัดแต่งไว้อย่างลงตัว ทำให้รู้สึกมีความสุขยามได้เดินเที่ยวชม
ผิดกับตอนหยุดพัก  ที่อาการเหนื่อยก็เริ่มแสดงฤทธิ์ทันที  ทั้งขาและแขนหนักขึ้น จนแทบไม่อยากลุกเดินไปไหนต่อ   ซึ่งทุกคนที่มาด้วยกันก็รู้สึกไม่ต่างจากนี้นัก 
แต่ถึงจะเหนื่อยอย่างไรก็อยากไปต่อ  ยังยิ้มได้แม้เหงื่อจะโทรมตัว จนต้องนึกอิจฉาคนที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบธรรมชาตินี้ยิ่งนัก
ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ก็เหลือบไปเห็นคนจำนวนหนึ่งกำลังหน้าดำคร่ำเครียดกับการขายของอย่างเอาเป็นเอาตายความสนใจที่มีอย่างเดียวคือ ลูกค้าจะเข้ามาหยิบซื้อของในร้านหรือไม่เท่านั้น แม้ธรรมชาติรอบตัวจะสวยงามเพียงใดก็ไม่รู้สึกว่าได้อิ่มสุข อย่างที่นักท่องเที่ยวไปได้รับ ความเคยชินทำให้ความสุขรอบตัวเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย
หลายคนคงใช้ชีวิตกับความเคยชินมานานเสียจนได้รับรู้ความสุขที่รายล้อมอยู่รอบตัว มองโลกด้วยสายตาแคบลง อย่างแม่ค้าที่เฝ้าแต่ขายของจนลืมสนใจความสวยงามของโลกรอบตัว
ผิดกับโลกของนักท่องเที่ยวที่ตื่นตากับสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา มองทุกอย่างด้วยความรู้สึกชื่นชม ดื่มด่ำกับบรรยากาศจนแทบจะลืมวันลืมคืนหรือความเหนื่อยล้าไปเลย
ความรู้สึกนี้ช่วยสร้างสีสัน ความหวัง กำลังใจ ให้นักแสวงหา นักเรียน กวี และผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน หากเราลองสังเกต แล้วทำความเข้าใจทุกสิ่งให้มากขึ้น จะรู้ว่าความสุขอยู่รอบกายเราตลอดเวลา
แต่เพราะความเคยชิน ทำให้เราลืมสิ่งที่เราสร้างขึ้นที่เรียกว่าวัด ด้วยความเชื่อว่าจะให้เป็นที่สำหรับสงบกายและใจ พร้อมกับมอบความสุขให้กับชีวิตที่แสนวุ่นวายนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เราจึงแทบจะจำไม่ได้เลยว่า มีเหตุผลใดบ้างที่วัดได้คืนความสุขสดใสให้ชีวิต เพราะเคยชินกับชีวิตทุกวันจนลืมนึกถึงเรื่องดีๆเหล่านี้ไปจนหมดสิ้น
แต่หากเรามีเวลาพอสำหรับคิดเรื่องอื่น ก็คงเหลือเวลาสักนิดสำหรับคิดว่า ยามที่เราได้เข้าสู่วัดอย่างน้อยเราก็ได้หยุดการกดขี่ข่มเหงกัน หยุดการเบียดเบียนกัน หยุดเวลาที่ให้กับผู้อื่นมามากแล้ว มามอบกำลังใจให้ตัวเองดูบ้าง
นอกจากได้หยุดบางสิ่งที่เราต้องเผชิญทุกวี่วันแล้วเรายังได้พบเจอกับการให้การอภัยกันและกัน ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเมตตากรุณา ความเสียสละ ความสงบ กำลังใจ ศรัทธา ความหวัง ทั้งหมดล้วนเป็นออกซิเจนให้จิตใจมีกำลังอีกครั้ง เพื่อสร้างชีวิตให้แข็งแรงมากกว่าเดิม
เพราะสิ่งที่เห็นได้ทันตา ท่ากับผลที่เกิดกับใจตอนไม่ต้องวิ่งวุ่นกับทุกสิ่ง จะมีอะไรเท่าผลของการทำดีที่เกิดจากลด ละ และเลิก สิ่งที่ทำให้ชีวิตเราทุกข์บ้าง

                             ...แค่ลองเดินเข้าวัดมาอย่างน้อยถ้าไม่ได้เป็นผู้ให้ ได้มาเป็นผู้รับก็ยังดี...

ผีมีจริงไหม?


                “ที่พึ่งที่จะไม่ทำให้เรากลัวความมืดหรือพวกผีสางที่หลอกลวงในชีวิตเราอีก นั่นคือยึดถือใครสักคนที่ปฏิบัติดีจนหลุดพ้น (พระพุทธ) มีหลักธรรมไว้ยึดเหนี่ยวให้จิตใจกล้าแข็ง (พระธรรม) และคอยเดินตามผู้ปฏิบัติชอบ (พระสงฆ์)”
                ถ้าจะมีเรื่องใดที่ลึกลับและน่าสนใจ พอๆกับเรื่องมนุษย์ต่างดาว ก็คงเป็นเรื่องผีหรือวิญญาณเพราะทุกหนแห่งไม่ว่าจะชาติใด ศาสนาไหน ล้วนมีเรื่องผีเล่ากันได้ตลอดยิ่งเล่าก็ยิ่งสร้างความสงสัยว่า แล้วตกลงผีมีจริงหรือไม่?
                ในพระพุทธศาสนาได้บอกไว้ว่า ไม่ว่าผีจะมีจริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่าเชื่อ แล้วมีสติขึ้นมากน้อยเพียงใด หากเราคิดว่าผีมีจริง แล้วคิดถึงบาปบุญคุณโทษมากขึ้น ผีก็ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่สิ่งที่เราหวาดกลัวคือ สิ่งที่เราทำไปต่างหากเพราะถ้าเราทำดีจริง ผีต่างหากล่ะที่ต้องกลัวเรา
                เหมือนครั้งหนึ่งมีพระไปปฏิบัติธรรมในป่า ปรากฏว่าพอตกกลางคืน เทวดาและผีสางที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ก็มาหลอกให้กลัว จนพระท่านอยู่ไม่ได้จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงให้พระพากันกลับไปที่เดิม พร้อมคาถา โดยใจความคาถาต้องการสื่อกับเทวดาเหล่านั้นให้รู้ว่าหากเทวดาเชื่อมั่นในความดี ควรมีความอ่อนโยน และส่งเสริมการทำดี พอเทวดาได้ฝังจึงเข้าใจ และเปลี่ยนความรู้สึกเดิมมาคอยปรนนิบัติพระท่านไม่ให้ลำบาก
                เทวดาหรือผีสางไม่ว่าจะมีฤทธิ์เดชขนาดไหน ย่อมรู้ผลของการทำดี ทำชั่วที่สุด เพราะเมื่อเป็นเทวดาก็ต้องทำดีมาพอควร หรือเป็นผีก็อาจรู้ซึ้งถึงส่วนบุญกุศลที่คนมอบให้
                ทั้งเทวดาและผี จึงอยากให้คนทำดี เพื่อจะได้เผื่อแผ่ให้ตนเอง และที่สำคัญก็เหมือนตนเองได้ทำดีไปพร้อมๆกันด้วย จึงไม่แปลกที่จะบอกว่า ความดีชนะทุกอย่าง
แต่อย่างไร อาการกลัวผีก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ได้ง่ายนักจำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้ถึงสิ่งที่กลัว อย่างที่พระเรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือ อย่ามองอะไรเพียงฉาบฉวย ต้องมองให้รู้ว่าสิ่งที่กลัวนั้น แท้ที่จริงเราไม่ได้กลัวผี เรากลัวโดนทำร้าย กลัวเจ็บ กลัวตายมากกว่า แล้วอะไรที่ทำให้เราไม่กลัว สิ่งที่เราต้องการคือ...ที่พึ่ง...
คนที่ลอยคออยู่กลางทะเลลึก ย่อมหวาดกลัวไปสารพัด เพราะไม่มีที่พึ่งที่พอจะช่วยได้ แต่พอเจอเกาะเข้าเราก็เริ่มมีกำลังใจในการมีชีวิตอีกครั้ง เมื่อกำลังใจมาเรี่ยวแรงก็กลับคืนมาอีกครั้ง และเริ่มว่ายพาตัวเองเข้าหาฝั่งทันที
ทีนี้เราลองจินตนาการถึงภาพชายที่หลงกลางทะเลมาเป็นระยะเวลายาวนาน พอขึ้นฝั่งได้ เขาจะแสดงอาการดีใจขนาดไหนกัน
เช่นเดียวกับเราที่ไม่ต่างกัน พากันลอยคอในความอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว ไม่รู้ว่าชีวิตมาจากไหน แล้วจะสิ้นสุดเมื่อไร ได้แต่ตื่นเช้ามาทำงาน เย็นค่ำก็กลับบ้านนอนแล้วตื่นมาก็ทำอย่างนี้อีกเรื่อยไป ไม่รู้จุดสิ้นสุด มาวันหนึ่งเราได้พบเข้ากับที่พึ่งทางใจ เราจินตนาการถึงภาพตัวเองว่าจะปีติยินดีขนาดไหน
ที่พึ่งที่จะไม่ทำให้เรากลัวความมืด หรือพวกผีสาง เทวดาที่หลอกลวงในชีวิตเราอีก นั่นคือ ยึดถือใครสักคนที่ปฏิบัติดี จนหลุดพ้นด้วยกำลังของมนุษย์ธรรมดา (พระพุทธ) มีหลักธรรมได้ยึดเหนี่ยวให้จิตใจกล้าแข็งยามเผชิญหน้ากับความหวาดกลัวในชีวิต (พระธรรม) และคอยเดินตามผู้ปฏิบัติชอบที่เราเห็นอยู่ทั่วไปอย่างพระ หรือในหลวงของเรา (พระสงฆ์) ที่รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย สิ่งเหล่านี้จะคอยเป็นเกราะที่จะป้องกันไม่ให้เราต้องหวาดกลัวในห้วงทะเลอันกว้างใหญ่นี้อีก
...เพราะผีที่น่ากลัวจริงๆ ไม่ใช่ผีที่เราเข้าใจ เพราะไม่อย่างนั้น พระเณรคงอยู่กันไม่ได้ แต่ผีที่น่ากลัวจริงๆ อยู่ในตัวเราที่ไร้ที่พึ่งต่างหาก จึงเที่ยวไปหาสิ่งอื่นมาพึ่ง อย่างการพนัน ยาเสพติด นั่นต่างหากล่ะที่น่ากลัว...





                                     ที่มา กิตติเมธี.(2552).เข้าวัด...ง่ายกว่าที่คิด.1.กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ใยไหม.